ฝึกบังคับลมหายใจไม่ใช่วิถีสูงสุด

 

ปราศรัยโดยท่านอนุตราจารย์ชิงไห่ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา
24 กุมภาพันธ์ 2534 (ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ)

 

มีคนบางคนมาขอให้ฉันสอนวิถีการทำสมาธิที่จะหยุดลมหายใจและชีพจร ฉันก็บอกว่า "ไม่เห็นต้องรีบร้อนอะไร รอสักหน่อยพอเธอตายไปสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นไปเอง" มันไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร เราไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับระบบของธรรมชาติ มันมิใช่หนทางสู่การรู้แจ้ง แล้วพวกเขาก็ขอให้ฉันสอนวิธีการทำสมาธิที่จะทำให้ร่างกายร้อนขึ้น จนคล้ายกลายเป็นเปลวไฟแห่งสมาธิ เป็นพลังสมาธิโดยผ่านความร้อน ฉันก็บอกว่า "ไม่จำเป็น โดดลงไปในเตาก็ใช้ได้แล้ว!"

เรื่องพวกนี้เหลวไหล! ไม่เกี่ยวข้องกับการรู้แจ้ง บางทีเหล่าอาจารย์หรือผู้บำเพ็ญในเทือกเขาหิมาลัยอาจไม่อบอุ่นพอ จึงต้องบำเพ็ญสิ่งที่เราเรียกกันว่าความร้อน "ทัมโม" จากจักระศูนย์กลางท้อง เพื่อให้เกิดความร้อน เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นในช่วงที่หนาวเย็นของหิมาลัย แต่ที่นี่ เรามีระบบทำความร้อนทั้งบ้านและเครื่องทำความร้อน เรามีทุกๆ อย่าง จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องฝึกเช่นนั้น แล้วฉันก็ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้า มีคนผู้หนึ่งมาหาพระพุทธเจ้าแล้วโอ้อวดว่า เขาสามารถเดินข้ามน้ำไปสู่อีกฝั่งหนึ่งได้ พระพุทธเจ้าถามว่า "ท่านบำเพ็ญมานานเท่าใดเพื่อให้ทำได้เช่นนี้?" เขาก็บอกว่า "25 ปี" พระพุทธเจ้าตรัสว่า "เสียเวลาและเสียเงินทำไม? อาตมาจ่ายเพียง 5 เบี้ยก็สามารถนั่งเรือข้ามน้ำได้แล้ว"

เหล่านี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เราบำเพ็ญเพื่อให้เรารู้แจ้งเพื่อจะได้ทราบว่า เราทำอะไรเพื่อมนุษยชาติได้อีกบ้าง ว่าเราเกี่ยวข้องกับจักรวาลอย่างไร และว่าเราจะมอบสิ่งใดๆ ให้กับจักรวาลได้อย่างไร จักรวาลซึ่งให้เรามากล้น หรือเพื่อให้เราได้เป็นอิสระจากความทุกข์ ให้เราได้เป็นอิสระจากการเป็นทาสแห่งการเวียนว่ายตายเกิด แต่เราหาได้บำเพ็ญเพื่อโอ้อวดไม่ เราหาได้มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความร้อนหรือความเย็นไม่ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหยุดชีพจรและลมหายใจ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งอันไม่จีรังยั่งยืน เป็นระบบการทำงานของธรรมชาติเราไม่นำมาใส่ใจ

ธรรมชาติอันเป็นพระเจ้ามิได้อยู่ในลมหายใจ มิได้อยู่ในชีพจรหรือความร้อนจากช่วงท้อง จริงอยู่ธรรมชาติอันเป็นพระเจ้าก็อยู่ในสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน แต่เป็นเพียงแง่มุมน้อยๆ หนึ่งเท่านั้น เราควรแสวงหาส่วนทั้งหมดแล้วเราก็จะเข้าใจรายละเอียดทุกอย่าง เราไม่ควรสนใจเพียงรายละเอียดเล็กน้อยแล้วลืมทั้งส่วน ดังนั้น เราจึงต้องเปลี่ยนแปลงความเข้าใจไม่ถูกต้องนั้นเสียเพื่อยกระดับของเรา อย่างน้อยก็ระดับความเข้าใจทางสมองของเรา เพื่อจะได้ทำความเข้าใจในระดับต่อไปได้ หากเรายังคงยึดติดอยู่กับความคิดหรืออคติล้าสมัยแบบนี้ เราก็ไม่มีหวังที่จะศิวิไลซ์ได้มากกว่านี้ที่จะมีสติปัญญามากกว่านี้

 

ปราศรัยโดยท่านอนุตราจารย์ชิงไห่ ณ ปานามา
28 มกราคม 2534 (ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ)

ไม่ต้องสงสัยว่าเมื่อเธอบำเพ็ญปราณ เธอย่อมจะได้ประโยชน์มากมาย เธออาจจะมีสุขภาพดี อาจจะมีชีวิตยืนยาวกว่าเดิมอีกสักหน่อย เธออาจจะมีพลังอภินิหารบางอย่างหรืออาจจะรู้สึกสงบ ไม่มีอะไรที่ไร้ซึ่งประโยชน์ แต่ลำพังเพียงปราณอย่างเดียวนำเธอไปไหนไม่ได้ เพราะเรามีชีวิตเป็นนิจนิรันดรโดยไร้ลมหายใจ สิ่งที่เราเรียกว่าชีวิตนั้นต้องไม่ได้หมายความถึงร่างกาย หากเธอว่าชีวิตคือร่างกายแล้วนั้น แล้วเธอบำเพ็ญ ลมหายใจก็จะสำคัญสำหรับร่างกายแต่เพียงสำหรับคนทั่วไปเท่านั้น คนจำนวนมากไม่ต้องใช้มัน เธอได้อ่าน "อัตชีวประวัติของโยคีท่านหนึ่ง" โดยท่านโยคะนันทะหรือไม่? เมื่ออาจารย์ของท่านอยู่ในสมาธิ ท่านไม่แม้กระทั่งจะหายใจ เธอคิดว่าในขณะนั้นท่านมิได้มีปัญญาอย่างนั้นหรือเมื่อท่านมิได้หายใจ? ปัญญาของท่านหายไปที่ไหน? ถ้าเช่นนั้น ท่านได้มาซึ่งปัญญาอย่างไร เมื่อท่านไม่มีลมหายใจเพื่อใช้บำเพ็ญปราณ?

ฉันรู้จักคนจำนวนมากซึ่งบำเพ็ญด้วยวิถีการหายใจแต่ไม่ใช่ปราณ แต่เขาจะนับลมหายใจ มีวิธีบำเพ็ญที่เกี่ยวข้องกับลมหายใจมากมายหลายวิธี และใช้ลมหายใจเป็นวิธีการทำสมาธิ และถ้ามองในเรื่องของการทำสมาธิมันช่วยได้ มันช่วยคนบางคนแต่ฉันจะไม่แนะนำให้ใครใช้วิธีนี้ ยังมีวิธีที่ดีกว่าอีกมากมายหลายวิธีแทนที่จะต้องมาพึ่งพาลมหายใจอันไม่จีรังยั่งยืน เธอจะต้องฝึกฝนจิตใจให้สามารถทำสมาธิได้ด้วยตนเอง ด้วยพลังของวิญญาณมิใช่โดยอาศัยเครื่องมือช่วยเหลือภายนอก มิฉะนั้นแล้ว หากเธอประสบอุบัติเหตุ เมื่อเธอสลบไป เมื่อเธอป่วย หรือหลับแล้วไม่รู้ถึงลมหายใจของเธอ แล้วเธอจะฝึกฝนได้อย่างไร? เราจะฝึกฝนเพียงเฉพาะเมื่อเราตื่นอยู่หรือเมื่อรู้ตัวถึงลมหายใจไม่ได้ เราจะต้องฝึกฝนตลอดเวลา 24 ชั่วโมง และสิ่งนี้จะสามารถทำได้ด้วยเพียงวิญญาณเท่านั้น

ฉันรู้จักคนจำนวนมากซึ่งบำเพ็ญลมหายใจถึงระดับที่พวกเขาสามารถอยู่ได้โดยไร้การหายใจ และนั่นคือระดับสูงสุดของวิถีนี้ หากใครสามารถหยุดการหายใจได้ ใครๆ จะแสดงความยินดีกับเขา เพราะนั่นคือระดับสูงสุดที่พวกเขาสามารถจะไปถึงได้ แต่เมื่อพวกเขาหยุดหายใจ นั่นย่อมหมายความว่าท้ายที่สุดการหายใจมิได้สำคัญอะไร เธอสามารถอยู่ได้โดยปราศจากมัน

ถ้าหากจะให้ฉันบอกความจริงกับเธอ แท้จริงแล้วลมหายใจนั้นเราไม่ควรจะไปแตะต้องมัน มีกระแส 2 อย่างในร่างกายเรา กระแสหนึ่งนั้นที่เราเรียกกันว่าพลังชีวิต หรือ "ฉาด" (Shabd) และอีกกระแสหนึ่งเรียกว่า "มอเตอร์" หรือ กระแสชีวิต กระแสฉาดนั้นเป็นกระแสที่มาจากพระเจ้า เป็นคลื่นที่สั่นสะเทือนในชีวิตทุกประเภท ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีลมหายใจ จะเคลื่อนไหวได้หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ ฉาดนั้นคือกระแสที่เราได้ยิน ส่วนอีกกระแสหนึ่งนั้นคือกระแสมอเตอร์ ซึ่งดูแลความร้อน ความเย็น ระบบย่อยอาหาร ระบบการหายใจ และสิ่งต่างๆ ทั้งหลาย รวมถึงการหายใจ สิ่งเหล่านั้นถูกจัดการไว้เรียบร้อยแล้ว และเราไม่ควรไปใส่ใจกับมัน เราไม่ควรทำให้มันสั้นหรือยาวหรือหยุดมัน หรือควบคุมมันด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม เพราะมันถูกจัดแจงโดยผู้มีสติปัญญาสูงสุด หากเราวุ่นวายกับเครื่องจักรนี้มันอาจทำงานผิดพลาดไปได้ หากมันมีปัญหาเราก็ควรจะซ่อมมันหรือดูแลมัน มิฉะนั้นแล้วเราไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว หรือเราอาจกดผิดปุ่มไปแล้วมันอาจจะเสียไปทั้งหมด