ปัญญาของหญิงชราขอทาน
 
ปราศรัยโดยท่านอนุตราจารย์ชิงไห่ ออสติน  เท็กซัส สหรัฐอเมริกา
วันที่ 27 สิงหาคม 2537 (ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ)
 

คนส่วนมากที่รู้มักจะไม่พูด และคนที่พูดก็มักจะไม่รู้ แน่ละที่มหาอาจารย์อย่างเช่น พระพุทธเจ้าและพระเยซู ท่านออกไปสั่งสอนผู้คน แต่นั่นมันคนละเรื่องกันพวกท่านต้องทำงานอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นพวกท่านเองก็ไม่ได้อยากจะทำหรอก ภารกิจของพวกท่านเป็นอย่างนั้น ถึงแม้ว่าท่านจะทุกข์ยาก ไม่ต้องการมัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านชอบออกไปหาโอกาสที่จะโต้วาทีกับผู้คนอยู่เสมอ นั่นคือความแตกต่าง พวกท่านจะไม่ชอบและจะวิ่งหนีไปจากโอกาสแบบนี้ ท่านเพียงแต่ต้องทำงานเพื่อคอยสอนพวกลูกศิษย์ที่เข้ามาหาท่าน แต่ท่านจะไม่ออกไปโต้คารมกับคนอื่นเพื่อจะอวดหรือแสดงความรู้ของท่าน

 

ทีนี้ก็มี ทิโลบา (ทิโลบา คืออาจารย์ทวดของอาจารย์ของมิลาเรอปา) คนนี้ผู้ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ชอบเดินทางไปทั่วอินเดียเพื่ออวดภูมิความรู้เกี่ยวกับหนังสือตำรับตำราต่างๆ ของเขา และทุกๆ แห่งที่เขาไป เขาเป็นคนชนะเสมอ ไม่เคยมีใครเอาชนะเขาได้เลย เพราะว่าความรู้ของเขาเกี่ยวกับตำราต่างๆ นั้นมีมากมายจริงๆ เอ้อ ในประเทศต่างๆ หลายประเทศก็มีคนแบบนี้อยู่เหมือนกัน ไม่ใช่มีแต่เพียงทิโลบาคนเดียวหรอก

 

วันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อเสียงและมีค่าที่สุดในเวลานั้นอยู่ในบ้านของเขา ก็มีขอทานคนหนึ่ง เป็นขอทานหญิงชราที่ดูสกปรกและผอมแห้งมาก เป็นพวกขาดอาหารอย่างมาก เดินผ่านมาแล้วก็พูดกับเขาทำนองว่า "คุณอ่านหนังสืออย่างลุ่มหลงออกอย่างนั้น แต่คุณเคยเข้าใจที่คุณอ่านสักนิดหนึ่งไหมล่ะ?” (เสียงหัวเราะ) โอ๋? ทิโลบาก็สะดุ้ง รู้สึกตกใจมาก ขอทานแก่ๆ น่าเกลียดขนาดนั้น กล้าดีอย่างไรถึงมาพูดอย่างนี้ใส่หน้าบัณฑิตอย่างฉัน? ศาสตราจารย์ที่รอบรู้อย่างฉันนี้? ทิโลบาจึงคล้ายกับตกใจและไม่รู้ว่าจะโต้ตอบอย่างไรดี และแล้วขอทานหญิงชราคนนั้นก็ถ่มน้ำลายใส่หนังสือของเขาแล้วก็วิ่งหนีไป

 

ทิโลบาก็โมโหโกรธามาก เพราะว่านางกล้ามาถ่มน้ำลายรดตำราอันศักดิ์สิทธิ์เล่มนี้ เขาจึงออกวิ่งไล่ตามนางไป แต่พอเขาวิ่งตามมาถึงนาง นางก็พึมพำอะไรในลำคอนางแค่นั้นเอง แล้วทิโลบาก็รู้สึกใจเย็น สงบลงทันทีและไม่รู้สึกโกรธอีกต่อไป แล้วเขาก็หยุดอยู่ตรงนั้น เดินกลับบ้านและเริ่มต้นคิด อาจจะเป็นได้ว่าเขารู้สึกว่า มีอะไรที่ไม่ถูกต้องในวิธีที่เขากำลังศึกษาเล่าเรียนจากหนังสือต่างๆ เขาจึงนั่งลงครุ่นคิดอย่างหนัก เขายังครุ่นคิดอย่างหนักว่า ทำไมหญิงชราขอทานคนหนึ่งจึงกล้าถ่มน้ำลายรดตำราศักดิ์สิทธิ์ที่คนทั้งอินเดียเคารพนับถือกันมาเป็นพันๆ ปีแล้ว

 

ผู้คนยังมากราบไหว้บูชาตำรานี้ด้วยซ้ำและถวายเงินแก่ตำราเล่มนี้ พวกเขายังทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ในบางประเทศรวมทั้งในประเทศอินเดียด้วย ฉันรู้และก็เคยเห็นมาแล้วด้วยว่าพวกเขาพากันมาก้มกราบ ถวายเงินและดอกไม้แก่ตำราเล่มนี้ และเชื่อว่าตำรานี้แหละที่เป็นความรู้และปัญญาทั้งหมดทุกอย่าง แต่ตำราก็คือตำรา ตัวเธอก็คือตัวเธอ เธอจะทำแค่ก้มกราบตำราแล้วก็ได้ความรู้มาจากมันได้อย่างไร หือ? แต่ก็มีหลายคนเชื่อแบบนั้น

 

เพราะฉะนั้นทิโลบาจึงครุ่นคิดไตร่ตรองอย่างหนัก เขายังรู้สึกประหลาดใจอีกด้วยว่าทำไมหญิงชราที่ผอมแห้งแรงน้อยออกอย่างนั้น เพียงแต่พึมพำอะไรออกมาประโยคหรือสองประโยคก็ทำให้ความโกรธของเขาที่โมโหเป็นฟืนเป็นไฟสงบลงได้ทันทีเหมือนกับมีน้ำมาดับไฟนั้น ดังนั้น หลังจากคิดไปคิดมาอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง เขาก็เลิกทำงานเดิมของเขาและไม่โต้คารมกับใครอีกเลย แล้วก็ออกเดินทางไปทั่วเพื่อค้นหาหญิงชราคนนั้น ขอทานคนนั้น พยายามจะค้นหาเพื่อที่จะรู้ให้ได้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่ที่เขาไม่เข้าใจ

 

แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้พบหญิงชราคนนั้นที่ในป่า นางอยู่คนเดียว แล้วเขาก็พยายามจะโต้คารมกับนางอีก เขาใช้ความรู้และฝีปากอันเก่งกาจของเขาเพื่อจะเอาชนะนางในการโต้คารมกัน แต่ไม่ว่าเขาจะพยายามอย่างมากมายเพียงใด นางก็ชนะเสมอ ขอทานที่แก่ชรา น่าเกลียด ยากจน ผอมแห้งแรงน้อยนั้นก็ยังชนะอยู่เสมอ (อาจารย์หัวเราะ) ดังนั้น ในที่สุดนางก็บอกเขาว่า "สิ่งที่ฉันรู้ ปัญญาที่ฉันมี ที่ฉันเข้าใจนั้นไม่ได้อยู่ในตำราทั้งหลายเหล่านั้น คุณไม่มีทางหามันพบหรอก เพราะฉะนั้นคุณจึงไม่มีทางจะเถียงสู้ฉันได้หรอก"

 

ดังนั้น ในที่สุดเขาก็ยอมก้มกราบและยอมรับนางเป็นอาจารย์และขอร้องให้นางสอนเขา นางก็ตกลง สิ่งที่นางบอกเขาก็คือ สิ่งใดก็ตามที่คุณอยากจะรู้นั้นไม่ได้อยู่ในหนังสือต่างๆ หรอก และไม่ได้อยู่ในโลกนี้ด้วย เพราะฉะนั้นคุณต้องไปหาชาวสวรรค์ให้พบเพื่อที่จะไปเรียนกับพวกเขา วิธีนั้นก็คือการประทับจิต เราขึ้นไปทางภายในของเรา แล้วเราจึงจะได้พบกับชาวสวรรค์นั้น เป็นอย่างนั้นนั่นแหละ แล้วเราก็เรียนกับพวกเขา

 

แม้ว่าฉันจะสอนพวกเธอ แม้ว่าอาจารย์ใดๆ ก็ตามจะสอนพวกเธอ มันก็เป็นเพียงแค่คำพูดเท่านั้น เป็นทางด้านวัตถุเท่านั้น แต่ถ้าเธอยังอยากจะเรียนรู้ให้ดีกว่านี้ เธอก็ต้องเข้าไปข้างใน ไปยังระดับชั้นของจิตสำนึกที่สูงกว่านี้และเรียนกับอาจารย์ภายใน อาจารย์ที่มีตัวตนทั่วทุกหนแห่ง ไม่ใช่อาจารย์ที่เป็นกายเนื้อนี้ อาจารย์ที่เป็นกายเนื้อเป็นเพียงแค่บันไดเท่านั้นเอง เป็นบันไดที่พาพวกเธอขึ้นไปถึงระดับชั้นที่สูงขึ้นของจิตสำนึก แล้วเธอก็เรียนกับอาจารย์ที่สูงกว่าที่นั่น อาจจะกับอาจารย์ท่านเดิม หรือกับอาจารย์ท่านอื่น แต่ว่าเรียนในระดับของจิตสำนึกที่สูงกว่า ละเอียดกว่า

 

หลังจากนั้นทิโลบาก็สละทุกสิ่งทุกอย่างและพยายามอย่างหนักที่จะเข้าไปยังแดนสวรรค์เพื่อพบกับชาวสวรรค์และเรียนกับพวกเขา และหนทางที่ไปหาชาวสวรรค์นั้นก็เต็มไปด้วยเล่ห์กลที่ลวงล่อและเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ว่าเขาก็ทำได้สำเร็จบุคคลผู้นี้คือ ทิโลบา แม้จะเป็นผู้ที่มีความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็ยังต้องไปก้มกราบหญิงชราขอทานผู้น่าเกลียด หิวโหยเพื่อจะได้ปัญญา เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรที่จะต้องถ่อมตัวมากเกินไปสำหรับเราในการที่จะไปก้มคารวะผู้ใดที่มีปัญญาซึ่งสามารถมอบวิถีทางให้แก่เราได้จริงๆ และบอกวิธีที่จะได้หลุดพ้น

 

อาจารย์ในสมัยโบราณส่วนมากจะยากจนมาก พระเยซูเป็นช่างไม้ ท่านไม่เคยร่ำรวยเลย และพระพุทธเจ้าก็มีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ท่านก็ได้สละมันไปหมด (อาจารย์หัวเราะ) ดังนั้นท่านก็ไม่มีอะไรเช่นกัน แล้วท่านก็เดินทางไปทั่วอินเดียและบิณฑบาตขออาหารไปตลอด เพราะฉะนั้นท่านก็เหมือนกับกลายเป็นขอทานเหมือนกัน มหาอาจารย์ส่วนมากไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร แม้หากว่าพวกเขาอยากจะมีทรัพย์สมบัติ ก็ไม่เป็นไรเช่นกัน

 

อาจารย์ซิกข์ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์ซิกข์คนที่ 10 ท่านมีชื่อเสียงมาก ท่านยังคงมีทรัพย์สมบัติอยู่ ดูร่ำรวยมาก ท่านประดับเพชรนิลจินดามากมายอย่างกับเจ้าชายองค์หนึ่งทีเดียว แล้วท่านก็ไม่เคยกระดากอายในเรื่องนี้เลย แต่อาจารย์ซิกข์คนอื่นๆ ก็ยังเดินขออาหารไปทั่วประเทศเช่นกัน เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นที่จะมาพูดว่าคนที่เป็นอาจารย์ควรจะเป็นอย่างนี้อย่างนั้น หรืออย่างอื่น ไม่มีปัญหาหรอก พวกเธอเห็นท่านกวนอิมโพธิสัตว์ไหม ท่านมีเครื่องประดับประดาเยอะแยะเลย และผมของท่านก็ยาวสลวยมาก ท่านสวมเสื้อผ้าที่สวยงาม และพวกชาวสวรรค์ก็งดงามเช่นกัน เครื่องประดับต่างๆ ของพวกเขามีติดตัวพวกเขาอยู่เป็นธรรมชาติตามผลบุญกุศลของพวกเขา

 

เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นที่จะมาพูดว่าคนที่เป็นอาจารย์ต้องยากจนเสมอ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไปหรอก แต่ว่าผู้ที่เป็นอาจารย์ส่วนมากจะเลือกชีวิตที่เรียบง่าย เนื่องจากพวกเขามีการตระหนักรู้อยู่ภายใน แต่ผู้เป็นอาจารย์จะประพฤติปฏิบัติให้สอดคล้องตามสถานการณ์เสมอ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะว่าถ้าผู้เป็นอาจารย์ยึดติดอยู่กับความยากจนมาก หรือยึดติดกับชีวิตหรือเสื้อผ้าที่เรียบง่ายแต่เพียงอย่างเดียว นั่นก็เป็นการยึดติดแบบหนึ่งเช่นกัน ยังยึดอยู่กับสิ่งหนึ่งหรือสิ่งอื่นอย่างสุดโต่งเสมอ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ดีเหมือนกัน ผู้เป็นอาจารย์นั้นภายในต้องปล่อยวาง ไม่ยึดติด แต่สำหรับภายนอกนั้นไม่เป็นไร มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์และพื้นเพของเธอ หรืออะไรก็ตามที่เธอต้องทำเพื่อยังประโยชน์ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย